โตโยต้า สรุปตลาดรถยนต์เริ่มต้นครึ่งปีหลังติดลบ 8.8% ยอดขาย 58,419 คัน ยอดขายรถยนต์นั่งสดใส เติบโตต่อเนื่องที่ 17.3% ยอดขาย 22,511 คัน

นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือนกรกฏาคม 2566 ด้วยยอดขาย 58,419 คัน ลดลง 8.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ลูกค้าให้การตอบรับตลาดรถยนต์นั่งเดินหน้าต่อเนื่องด้วยยอดขาย 25,511 คัน เติบโต 17.3% ในขณะที่รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ชะลอตัวต่อเนื่องด้วยยอดขาย 35,908 คัน ลดลง 19.9% ในส่วนของรถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนท์นี้ ชะลอตัวเช่นกันด้วยยอดขาย 24,982 คัน ลดลงถึง 26.6%

 ประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์
ตลาดรถยนต์เดือนกรกฏาคม 2566 มีปริมาณการขายที่ 58,419 คัน ลดลง 8.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าตลาดรถยนต์นั่งสามารถทำยอดขาย 22,511 คัน เติบโตต่อเนื่องที่ 17.3% โดยเฉพาะอย่างยิ่งยอดขายในเซกเมนท์รถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ 16,308 คัน เติบโต 18.1% แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้ยอดขายรวมในเดือนนี้กลับมาเป็นบวก เนื่องจากตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ชะลอตัวต่อเนื่องที่ 19.9% ด้วยยอดขาย 35,908 คัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน ชะลอตัวถึง 26.6% ด้วยยอดขาย 24,982 คัน จากการชะลอการสินใจซื้ออย่างต่อเนื่องของภาคธุรกิจ และภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของธุรกิจขนส่ง โดยมีปัจจัยลบที่สำคัญอย่างยิ่งคือความเข้มงวดของสถาบันการเงิน ที่มีความกังวลต่อหนี้เสียอันเป็นผลต่อเนื่องที่เกิดจากสภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา

ตลาดรถยนต์ในเดือนสิงหาคม มีความหวังที่จะฟื้นตัวขึ้น จากความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตวิทยาการบริโภคในการใช้เงินเพื่อจับจ่ายใช้สอย ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่ง ผลดีต่อตลาดรถยนต์ด้วยเช่นกัน โดยมีปัจจัยเสริมที่สำคัญ ได้แก่ แคมเปญการตลาดในช่วงงาน Bangkok International Grand Motor Sale 2023 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม - 3 กันยายน ศกนี้ นอกจากช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์ภายในงาน ยังขยายข้อเสนอพิเศษไปยังโชว์รูมผู้แทนจำหน่ายทั่วประเทศ อีกด้วย และนับเป็นโอกาสดีที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ความผันผวนทางเศรษฐกิจซึ่งส่งผลต่อภาวะหนี้สินครัวเรือน ตลอดจนความเข้มงวดของสถาบันการเงินต่อการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ เดือนกรกฎาคม 2566
1. ตลาดรถยนต์รวม ปริมาณการขาย 58,419 คัน ลดลง 8.8%
อันดับที่ 1 โตโยต้า 20,421 คัน เพิ่มขึ้น 0.7% ส่วนแบ่งตลาด 35.0%
อันดับที่ 2 อีซูซุ 11,735 คัน ลดลง 27.9% ส่วนแบ่งตลาด 20.1%
อันดับที่ 3 ฮอนด้า 7,551 คัน เพิ่มขึ้น 4.1% ส่วนแบ่งตลาด 12.9%

2. ตลาดรถยนต์นั่ง ปริมาณการขาย 22,511 คัน เพิ่มขึ้น 17.3%
อันดับที่ 1 โตโยต้า 8,048 คัน เพิ่มขึ้น 57.9% ส่วนแบ่งตลาด 35.8%
อันดับที่ 2 ฮอนด้า 4,922 คัน เพิ่มขึ้น 6.2% ส่วนแบ่งตลาด 21.9%
อันดับที่ 3 มิตซูบิชิ 1,086 คัน ลดลง 39.3% ส่วนแบ่งตลาด 4.8%

3. ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ปริมาณการขาย 35,908 คัน ลดลง 19.9%
อันดับที่ 1 โตโยต้า 12,373 คัน ลดลง 18.5% ส่วนแบ่งตลาด 34.5%
อันดับที่ 2 อีซูซุ 11,735 คัน ลดลง 27.9% ส่วนแบ่งตลาด 32.7%
อันดับที่ 3 ฟอร์ด 2,754 คัน ลดลง 23.7% ส่วนแบ่งตลาด 7.7%

4. ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน (Pure Pick up และ รถกระบะดัดแปลง PPV*)
ปริมาณการขาย 24,982 คัน ลดลง 26.6%
อันดับที่ 1 อีซูซุ 10,228 คัน ลดลง 31.0% ส่วนแบ่งตลาด 40.9%
อันดับที่ 2 โตโยต้า 10,088 คัน ลดลง 20.3% ส่วนแบ่งตลาด 40.4%
อันดับที่ 3 ฟอร์ด 2,754 คัน ลดลง 23.7% ส่วนแบ่งตลาด 11.0%
*ปริมาณการขายรถกระบะดัดแปลง (ในตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน) 4,673 คัน
โตโยต้า 1,776 คัน - อีซูซุ 1,677 คัน – ฟอร์ด 934 คัน – มิตซูบิชิ 213 คัน – นิสสัน 73 คัน

5. ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ปริมาณการขาย 20,309 คัน ลดลง 31.9%
อันดับที่ 1 อีซูซุ 8,551 คัน ลดลง 35.5% ส่วนแบ่งตลาด 42.1%
อันดับที่ 2 โตโยต้า 8,312 คัน ลดลง 26.7% ส่วนแบ่งตลาด 40.9%
อันดับที่ 3 ฟอร์ด 1,820 คัน ลดลง 37.4% ส่วนแบ่งตลาด 9.0%

 สถิติการจำหน่ายรถยนต์ เดือนมกราคม – กรกฏาคม 2566
1. ตลาดรถยนต์รวม ปริมาณการขาย 464,550 คัน ลดลง 5.5%
อันดับที่ 1 โตโยต้า 157,280 คัน ลดลง 3.1% ส่วนแบ่งตลาด 33.9%
อันดับที่ 2 อีซูซุ 98,016 คัน ลดลง 22.3% ส่วนแบ่งตลาด 21.1%
อันดับที่ 3 ฮอนด้า 53,685 คัน เพิ่มขึ้น 13.2% ส่วนแบ่งตลาด 11.6%

2. ตลาดรถยนต์นั่ง ปริมาณการขาย 170,598 คัน เพิ่มขึ้น 10.0%
อันดับที่ 1 โตโยต้า 59,089 คัน เพิ่มขึ้น 34.3% ส่วนแบ่งตลาด 34.6%
อันดับที่ 2 ฮอนด้า 35,347 คัน เพิ่มขึ้น 3.3% ส่วนแบ่งตลาด 20.7%
อันดับที่ 3 มิตซูบิชิ 10,664 คัน ลดลง 17.8% ส่วนแบ่งตลาด 6.3%

3. ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ปริมาณการขาย 293,952 คัน ลดลง 12.6%
อันดับที่ 1 โตโยต้า 98,191 คัน ลดลง 17.0% ส่วนแบ่งตลาด 33.4%
อันดับที่ 2 อีซูซุ 98,016 คัน ลดลง 22.3% ส่วนแบ่งตลาด 33.3%
อันดับที่ 3 ฟอร์ด 22,871 คัน เพิ่มขึ้น 23.6% ส่วนแบ่งตลาด 7.8%

4. ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน (Pure Pick up และ รถกระบะดัดแปลง PPV*)
ปริมาณการขาย 207,934 คัน ลดลง 20.6%
อันดับที่ 1 อีซูซุ 88,861 คัน ลดลง 23.6% ส่วนแบ่งตลาด 42.7%
อันดับที่ 2 โตโยต้า 80,632 คัน ลดลง 20.9% ส่วนแบ่งตลาด 38.8%
อันดับที่ 3 ฟอร์ด 22,871 คัน เพิ่มขึ้น 23.6% ส่วนแบ่งตลาด 11.0%
*ปริมาณการขายรถกระบะดัดแปลง (ในตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน) 37,940 คัน
โตโยต้า 13,538 คัน - อีซูซุ 13,630 คัน – ฟอร์ด 7,204 คัน – มิตซูบิชิ 2,806 คัน – นิสสัน 762 คัน

5. ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ปริมาณการขาย 169,994 คัน ลดลง 25.5%
อันดับที่ 1 อีซูซุ 75,231 คัน ลดลง 28.8% ส่วนแบ่งตลาด 44.3%
อันดับที่ 2 โตโยต้า 67,094 คัน ลดลง 23.0% ส่วนแบ่งตลาด 39.5%
อันดับที่ 3 ฟอร์ด 15,667 คัน เพิ่มขึ้น 0.7% ส่วนแบ่งตลาด 9.2%

 

Visitors: 1,497,436