TK ไตรมาส 1/2566 รายได้รวม 415.1 ล้านบาท กำไรสุทธิ 42.1 ล้านบาท กำเงินสด 2,101.3 ล้านบาท พร้อมใช้ขยายธุรกิจเช่าซื้อและธุรกิจใหม่
บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย ปรับกลยุทธ์บริหารต้นทุนทางการเงิน ใช้วงเงินกู้ลดลง เปลี่ยนถือเงินสด 2,101.3 ล้านบาท ที่พร้อมใช้ขยายพอร์ตเช่าซื้อและใช้ลงทุนธุรกิจใหม่ทันทีเมื่อมีโอกาส พร้อมเปลี่ยนกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงจากร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบ ลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เผยผลประกอบการไตรมาส 1/2566 กำไรสุทธิ 42.1 ล้านบาท ลดลง 68.8% จากรายได้รวม 415.1 ล้านบาท ลดลง 15.9% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 ในช่วงเวลาเดียวกัน การปรับการดำเนินงานให้สอดรับกับประกาศที่ สคบ. ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ส่งผลลูกหนี้เช่าซื้อรวมมีมูลค่า 4,006.6 ล้านบาท ลดลง 3.7% ขณะพอร์ตเช่าซื้อต่างประเทศในกัมพูชา และลาว มีมูลค่า 1,202.7 ล้านบาท เดินนโยบายเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อในประเทศ เพิ่มบริการอื่นนอกจากธุรกิจให้เช่าซื้อ และขยายพอร์ตสินเชื่อต่างประเทศ หวังผลประกอบการดีในระยะกลางและระยะยาว
นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติงบการเงินสำหรับรอบบัญชีสิ้นสุดไตรมาส 1/2566 โดยรายได้รวมเท่ากับ 415.1 ล้านบาท ลดลง 15.9% จาก 493.3 ล้านบาท กำไรสุทธิรวม 42.1 ล้านบาท ลดลง 68.8% จาก 135.1 ล้านบาท รายได้เช่าซื้อ ไตรมาส 1/2566 จำนวน 317.9 ล้านบาท ลดลง 8.4% จาก 347.2 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ลดลงตามที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศเรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา รายได้อื่น ๆ จำนวน 92.6 ล้านบาท ลดลง 34.2% จาก 140.7 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา จากหนี้สูญรับคืนได้รับชำระลดลง เนื่องจากสัดส่วนการตัดหนี้สูญลดลงเพราะขนาดพอร์ตที่ลดลง
“ภาพรวมของพอร์ตเช่าซื้อในไตรมาสแรกของปีนี้จะหดตัวลงจากผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่เหนือการควบคุมและทางบริษัทมีนโยบายลดความเสี่ยงก่อนกฎระเบียบจากการกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทยมีความชัดเจน แต่ในส่วนของพอร์ตในต่างประเทศมีแนวโน้มเติบโตได้ดี สำหรับพอร์ตในประเทศ เรามีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้สอดรับกับสถานการณ์ ทั้งกลยุทธ์การบริหารต้นทุนทางการเงิน ด้วยการลดใช้วงเงินกู้และใช้การคงสถานะเงินสดและเงินฝากในระดับที่สูงพอสำหรับขยายพอร์ตและขยายธุรกิจใหม่ที่เราได้รับใบอนุญาตเพิ่มเติมมา นอกจากนี้ เรากำลังเปลี่ยนกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้จากร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้ ธปท. กำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์” นางสาวปฐมากล่าว
ทางด้าน นายประพล พรประภา กรรมการและรองผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 3.6 ซึ่งปรับลงจากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 3.7 เมื่อพฤศจิกายน 2565 เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องจากการขยายตัวด้านการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าตลอดทั้งปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 25.5 ล้านคน และจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 2.38 ล้านล้านบาท ส่งผลดีต่อรายได้ของแรงงานและภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยว แต่เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยลบหลายด้าน เช่นเดียวกันกับเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผลกระทบต่าง ๆ เช่น ต้นทุนค่าไฟฟ้า ค่าแรงงาน และสินค้านำเข้าที่สูงขึ้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ราคาพลังงานที่ยังคงสูง รวมถึงการลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อปรับนโยบายสู่สมดุล จากปัญหาเงินเฟ้อที่สูงและที่ปรับตัวลงอย่างช้า ๆ ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ ในสหภาพยุโรปยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤติขาดแคลนพลังงานอย่างรุนแรงและราคาแพงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปีที่ผ่านมา ผลจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวทำให้ TK ยังคงต้องระมัดระวังในนโยบายการขยายธุรกิจ รวมถึงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น
ณ ไตรมาส 1/2566 บริษัทฯ มีลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินให้กู้ยืมสุทธิรวม 4,006.6 ล้านบาท ลดลง 3.7% จาก 4,158.6 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 จากนโยบายเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2565 ซึ่งเป็นการปรับการดำเนินงานให้สอดรับกับประกาศของ สคบ. ในส่วนของการตั้งสำรองค่าเผื่อการด้อยค่าลูกหนี้การค้า บริษัทฯ เห็นความสำคัญของการมีสำรองที่เพียงพอ ณ ไตรมาส 1 ปี 2566 มีสำรองจำนวน 318.4 ล้านบาท ลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน ที่ 7.0% และมี Coverage Ratio ที่ 105.3% ซึ่งเปรียบเทียบกับ ณ สิ้นปี 2565 ที่มีสำรองลูกหนี้ จำนวน 344.4 ล้านบาท ลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน ที่ 7.0% และมี Coverage Ratio ที่ 109.8% ณ ไตรมาส 1 ปี 2566 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 6,539.8 ล้านบาท ลดลง 0.3% จาก 6,558.3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 และมีหนี้สินรวม 776.1 ล้านบาท ลดลง 3.0% จาก 800.5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565
ด้านต้นทุนทางการเงินของบริษัทฯ ณ ไตรมาส 1/2566 มีจำนวน 7.1 ล้านบาท ลดลง 8.3% จาก 7.8 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการใช้วงเงินกู้ลดลง เพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีสถานะเงินสดและเงินฝากอยู่ที่ระดับประมาณ 2,101.3 ล้านบาท อีกทั้ง D/E ณ ไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 0.13 เท่า ซึ่งลดลง จากสิ้นปี 2565 ที่ 0.14 เท่า
“สำหรับการปรับตัวของอุตสาหกรรมเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ภายหลังการบังคับใช้ประกาศของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ผู้ประกอบการบางส่วนมีการความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น บางรายยังมีการลดค่าใช้จ่ายการตลาดและเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ แต่บางรายก็มีนโยบายในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นเพื่อชดเชยกับรายได้ที่ลดลงจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง แต่สำหรับ TK เราได้ปรับการดำเนินงานและเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ โดยควบคุมคุณภาพการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนทางด้าน Credit cost หรือหนี้เสีย รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เพิ่มบริการอื่นนอกเหนือจากธุรกิจให้เช่าซื้อ ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน หรือสินเชื่อจำนำทะเบียน และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งบริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตเพิ่มเติม รวมถึงเพิ่มการให้บริการสำหรับสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ซึ่งบริการเหล่านี้จะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่บริษัทฯ และช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากการพึ่งพาธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์แต่เพียงอย่างเดียว ควบคู่กับการขยายธุรกิจเช่าซื้อในต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทในระยะกลางและระยะยาวต่อไป” นายประพลกล่าวทิ้งท้าย
อนึ่ง TK มีนโยบายในการดำเนินธุรกิจตามกฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ ตลอดมา และจะยังคงยึดหลักการดังกล่าวในการดำเนินธุรกิจต่อไป ทั้งนี้ ภายหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะทำให้ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ทั้งอุตสาหกรรมอยู่ภายใต้กฎกติกาเดียวกัน ดังนั้นบริบทการให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้ารายย่อยและประชาชนที่มีความต้องการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และรถยนต์ รวมถึงการแข่งขันของตลาดจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับกฎฎระเบียบใหม่ของภาครัฐ