โรลส์-รอยซ์ เผยความก้าวหน้าทางวิศวกรรมที่สำคัญใน ‘นิว โกสต์’

‘กู๊ดวูด โกสต์’ รุ่นแรกคือภาพสะท้อนของกลุ่มลูกค้าผู้มีพฤติกรรมการใช้ยนตรกรรมโรลส์-รอยซ์ที่ไม่เหมือนใคร ลูกค้าหญิงชายเหล่านี้ต้องการยานยนต์ที่สามารถมอบประสบการณ์การโดยสารอันไร้ติเมื่อเป็นผู้โดยสาร เช่นเดียวกับความมีชีวิตชีวาและพละกำลังเมื่อพวกเขาเลือกที่จะเป็นผู้ขับขี่เอง ในปี 2552 เมื่อ ‘โกสต์’ คันแรกออกสู่ตลาด ลูกค้ากลุ่มนี้ซึ่งประกอบด้วยผู้นำวงการธุรกิจ ผู้ก่อตั้งบริษัท และผู้ประกอบการ ต่างมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าแบรนด์ได้ให้กำเนิดผลิตภัณฑ์ที่สนองความต้องการของพวกเขาได้อย่างสมบูรณ์แบบ

เมื่อลูกค้าเหล่านี้ได้รับข่าวจากเราว่าโรลส์-รอยซ์จะเริ่มพัฒนา ‘นิว โกสต์’ พวกเขาก็ได้มอบโจทย์ที่เรียบง่าย นั่นคือ ให้ผลิตยนตรกรรมที่พวกเขาสามารถใช้งานได้มากขึ้น มีความหรูหราสะดวกสบายสำหรับการนั่งโดยสารและสนุกยิ่งขึ้นเมื่อเปลี่ยนมาเป็นผู้ขับ

เพื่อสนองต่อข้อเรียกร้องที่ท้าทายนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมของโรลส์-รอยซ์จึงปฏิเสธการใช้แพลตฟอร์มที่มีอยู่เดิม แล้วปรับแต่งสถาปัตยกรรมแบบสเปซเฟรม (spaceframe) ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของแบรนด์ขึ้นมาใหม่ เพื่อบรรจุเอาองค์ประกอบที่มีอยู่แล้วของแบรนด์ เช่น ระบบ all-wheel drive และ all-wheel steering ไปพร้อมๆ กับการปรับโครงสร้างเพื่อรองรับความก้าวหน้าที่สำคัญในประสบการณ์โดยสารที่สบายดุจนั่งพรมวิเศษ และการขับขี่ที่ทรงพลังอันเป็นเอกลักษณ์ของโรลส์-รอยซ์

การพัฒนาที่สำคัญคือระบบ Planar ที่มี 3 องค์ประกอบ อย่างแรกคือตัวซับแรงสะเทือน Upper Wishbone Damper ซึ่งติดตั้งอยู่เหนือช่วงล่างด้านหน้า ช่วยให้การขับขี่มีความเสถียรและง่ายดายยิ่งขึ้น ถือเป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นครั้งแรกในโลกหลังผ่านการคิดค้นนาน 3 ปี อย่างที่ 2 คือระบบ Flagbearer ซึ่งใช้กล้องเพื่อตรวจจับสภาพเส้นทางข้างหน้า และเตรียมระบบช่วงล่างให้พร้อมหากมีการเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวถนน อย่างที่ 3 คือ ฟังก์ชัน Satellite Aided Transmission หรือการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม ซึ่งจะดึงข้อมูล GPS เพื่อเลือกเกียร์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเข้าโค้งแต่ละโค้ง ระบบ Planar นี้ ช่วยให้ ‘นิว โกสต์’ สามารถคาดการณ์และตอบสนองได้ดีแม้กระทั่งบนพื้นผิวถนนที่ท้าทายที่สุด

ในระหว่างกระบวนการออกแบบทางวิศวกรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านแชสซีและช่วงล่างถุงลมของ ‘นิว โกสต์’ จะต้องมานำเสนอความก้าวหน้าทางเทคนิคที่พวกเขาคิดค้นให้กับแผนกอื่นๆ เป็นประจำ รวมถึงต้องแสดงให้เห็นว่าผลงานที่น่าทึ่งเหล่านี้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างไร โรลส์-รอยซ์ได้เลือกที่จะแบ่งปันเนื้อหาบางส่วนของการประชุมภายในบริษัท เพื่อถ่ายทอดสาระสำคัญทางวิศวกรรมอันเป็นรากฐานของยนตรกรรมคันใหม่ที่ไม่ธรรมดานี้ ก่อนการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในฤดูใบไม้ร่วงที่กำลังจะมาถึง

โจนาธาน ซิมม์ส (Jonathan Simms) หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมของ ‘นิว โกสต์’ กล่าวว่า “ลูกค้า ‘โกสต์’ บอกเราว่า ในบรรดารถยนต์ที่พวกเขาครอบครอง ‘โกสต์’ เป็นยนตรกรรมที่น่าดึงดูดใจมากที่สุด พวกเขาชอบความเอนกประสงค์ที่ไม่ซับซ้อน ชอบในความเป็นยนตรกรรมที่ไม่ได้พยายามที่จะเป็นรถสปอร์ต ไม่ได้พยายามที่จะต้องมีการเปิดตัวอะไรที่ยิ่งใหญ่ มันเป็นเพียงแค่ยนตรกรรมที่ความพิเศษและเรียบง่ายจนเป็นเลิศ เมื่อพูดถึงการสร้าง ‘นิว โกสต์’ ซึ่งจะเป็นยนตรกรรมที่เหนือกว่ารุ่นก่อนหน้า ทีมวิศวกรต้องนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่ต้น เรายกระดับสถาปัตยกรรมของเราให้ก้าวไปอีกขั้น และสร้างยนตรกรรมที่ทรงพลังมากขึ้น หรูหรายิ่งขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือใช้งานได้ง่ายขึ้นด้วย”

แบรนด์เลือกที่จะใช้สื่อแอนิเมชันซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในการนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ ชาร์ลี เดวิส (Charlie Davis) นักวาดภาพประกอบชื่อดัง ได้รับเลือกให้เป็นผู้ถ่ายทอดข้อมูลเหล่านี้อย่างงดงามและ สอดคล้องกับ ‘นิว โกสต์’ ที่เปี่ยมไปด้วยความก้าวหน้าและล้ำสมัยนี้

นอกเหนือจากข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับการนำเสนอในรูปแบบของภาพเคลื่อนไหวแล้ว ยังมีการเปิดตัวพอดแคสต์จำนวน 5 ชุด เป็นรายการที่จะมาบอกเล่าสิ่งที่แบรนด์ค้นพบ รวมถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวัสดุและแนวคิดด้านวิศวกรรมที่เป็นรากฐานของ ‘นิว โกสต์’ ดำเนินรายการโดยโจฮันนา อาเกอร์มัน รอส (Johanna Agerman Ross) ภัณฑารักษ์แผนกศตวรรษที่ 20 และการออกแบบเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยของพิพิธภัณฑ์ Victoria & Albert ณ กรุงลอนดอน พ็อดคาสต์นี้สามารถรับฟังได้ทาง Apple, Google, Spotify และ Deezer


Visitors: 1,492,158