ทางรอดโลจิสติกส์ไทย เคลื่อนตัวอย่างไรไม่ให้ถูก Disrupt ถอดรหัสจากงานฟอรั่ม THE NEXT LEVEL of Thai and Asean Automotive Logistics Forum

“โลจิสติกส์” ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และยิ่งเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ ผู้เล่นในธุรกิจนี้จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อสร้างโอกาสและทางรอดให้กับตัวเอง ล่าสุดในงาน ฉลองครบรอบ 60 ปี บริษัท สามมิตร กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด ในฐานะที่ดำเนินธุรกิจยาวนานย่างก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 7 ได้มีการจัดฟอรั่มครั้งใหญ่ที่สุดแห่งปีของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ THE NEXT LEVEL of Thai and Asean Automotive Logistics Forum พร้อมทั้งจัดเสวนาในหัวข้อ ““เสริมแกร่งโลจิสติกส์ไทยด้วย IoTs” (Emerging Logistics Industry with IoTs)” โดยได้เชิญผู้นำธุรกิจ ด้านไอที ยานยนต์ และโลจิสติกส์ระดับประเทศ เข้าร่วมถกถึงทิศทางอนาคตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทย ที่กำลังถูกขับเคลื่อนเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในยุค 5G จะเดินหมากยังไงให้ประสบความสำเร็จ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวระหว่างการเปิดงานฟอรั่ม ว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายในการพัฒนาทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก อาทิ ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การแข่งขันทางการค้า ทักษะความสามารถของแรงงาน ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันภาคการขนส่ง ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานสูงสุดมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ แซงหน้าภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

“การที่ต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย หนึ่งในปัจจัยสำคัญ คือเรื่องต้นทุน ทั้งในเรื่องของการผลิตและการขนส่ง รวมทั้งเครือข่ายของระบบโลจิสติกส์เป็นอย่างไร ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับโลจิสติกส์โดยได้ตั้งงบไว้สำหรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์มากกว่า 97,398 ล้านบาท เพื่อพัฒนาในเรื่องการขนส่งในยุคอีคอมเมิร์ชอย่างจริงจัง และการมาถึงของเทคโนโลยี IoTs และ AI ซึ่งมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ ภาคธุรกิจต้องเรียนรู้และมีการพัฒนารับการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ”

จีนเหนือกว่าสหรัฐฯ เพราะมี data strategy
ดร.ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวระหว่างปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สู่ผู้นำการค้าอาเซียน บนบริบทการเปลี่ยนแปลงการค้าโลก” กล่าวว่า แม้ปัจจุบันจะมี Trade War หรือการท้าทายทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่เห็นได้ชัดว่า จีนไม่ได้มีความสะทกสะท้าน เพราะจีนรู้จักใช้และต่อยอดข้อมูลที่ได้จาก IoTs อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เอกชนมีความคล่องตัวในการทำธุรกิจ จนปัจจุบันจีนสามารถแซงหน้าสหรัฐอเมริกาในเชิงเศรษฐกิจ เพราะแหล่งผลิตสินค้าจากจีน ได้ขยายส่งออกไปทั่วโลก รวมไปถึงนวัตกรรมที่จีนสร้างก็มีทีท่าจะขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจแซงหน้าสหรัฐฯ จีนมีการพัฒนาทั้งในเชิงคุณภาพและสร้างระบบควบคู่กัน ทำให้จีนกล้าที่จะประกาศนโยบาย Made In China 2025

จากสภาวะเทรนด์ของโลกที่เริ่มขยับเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน แนวทางกลยุทธ์ธุรกิจโลจิสติกส์ในอนาคต ควรคำนึงถึงการวาง data strategy ผู้ประกอบการควรนำหลัก 17 ข้อ ของสหประชาชาติ UN Sustainable Goal มาพัฒนาธุรกิจ เพื่อความอยู่รอด และวางแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทล่วงหน้า 10 ปี เพื่อให้เห็นทิศทางในการลงทุน ขณะเดียวกัน ดร.ปริญญ์ ยังให้มุมมองในการพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ว่า Last mile delivery จะเข้ามามีผลต่ออุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ช ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือโดรน (drone) จะเข้ามามีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะในการขนส่งสินค้าที่มีขนาดเล็ก หรือต้องการความรวดเร็ว เข่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ ต่อไปเราอาจเห็นภาคการเกษตรใช้โดรนในการขนส่งสินค้าเกษตร ช่วยลดต้นทุนการขนส่งในอนาคต

จับใจผู้บริโภคยุคใหม่ต้อง better-faster-cheaper
รศ.ดร.ณัฐสิทธิ์ เกิดศรี นักวิชาการด้านการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า 5G กับ IoT ก้าวเข้ามามีอิทธิพลเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตของคนในปัจจุบัน ผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจที่อยู่ในสังเวียนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ต้องรู้จักปรับตัว วางแผนระบบจัดเก็บ data ให้เป็นข้อมูล (information) และนำไปสู่การใช้งานอย่างชาญฉลาด (intelligent) เนื่องจากผู้บริโภคในปัจจุบันต้องการความสะดวกรวดเร็ว ไปพร้อมๆ กับการบริการที่ดี และได้รับความคุ้มค่ามากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ จึงต้องรู้จักการจัดการข้อมูลให้เป็นประโยชน์ เช่น การขนส่ง การประเมินความต้องการล่วงหน้าของตลาด รวมทั้งต้องอัพเดทนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยส่งเสริมต่อยอดธุรกิจของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อความอยู่รอดของของธุรกิจในอนาคต

เอสซีจี โลจิสติกส์ ขอ disrupt ตัวเอง ก่อนที่จะถูก disrupt
เพราะเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมต่อไปที่จะถูก disrupt คือ ธุรกิจโลจิสติกส์ เอสซีจี โลจิสติกส์ จึงวางแผน disrupt รูปแบบธุรกิจแบบเก่าทิ้งไป นายไพฑูรย์ จิรานันตรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด เริ่มวางแผนกลยุทธ์ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยเน้นการทำงานอยู่ใน 3 แพลตฟอร์มหลัก คือ ธุรกิจไปสู่ธุรกิจ (B2B) ธุรกิจไปสู่ผู้บริโภค (B2C) และดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น รวมถึงการมองหาพันธมิตรที่จะสร้าง Value เพิ่มให้กับธุรกิจ เช่น พันธมิตรด้านเครือข่ายเพื่อเชื่อมต่อสัญญาณ 5G เข้ากับระบบการบริการ ขณะเดียวกัน ก็ได้วางแผนเพิ่มจำนวนรถบรรทุก โดยอาศัยพันธมิตร อย่างกลุ่มบริษัทสามมิตร ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่มีจุดเด่นด้านการใช้นวัตกรรมใหม่ เช่น การใช้เหล็กพิเศษ “ไฮ เทนไซล์” เจ้าเดียวในตลาด เพิ่มความแข็งแรงทนทาน แต่น้ำหนักเบาลงถึง 2 ตัน สามารถขนของได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนการขนส่งต่อหน่วยลดลง และสามารถสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในทุกธุรกิจไม่สามารถเติบโตด้วยตัวคนเดียวได้ จำเป็นต้องมีความร่วมมือจากพันธมิตรที่พร้อมส่งเสริมผลักดันกันไปข้างหน้า เพื่อยกระดับธุรกิจให้พัฒนาขับเคลื่อนก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง

สามมิตรพลิกรถบรรทุกให้ขับเคลื่อนด้วย IoTs
จากบทบาทผู้ผลิตรถบรรทุกเบอร์หนึ่งของประเทศ สามมิตรก็ต้องปรับตัว เพื่อให้พร้อมเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง นางรัตนา สถิรมน กรรมการบริหาร บริษัท สามมิตร กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า สามมิตรต้องปรับตัวทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มเรื่องการบริการ โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนด้าน R&D คิดเป็นร้อยละ 2 ของรายได้ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่สำคัญต้องรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร แล้วออกแบบโซลูชั่นให้ตรงกับที่ต้องการ เช่น SCG ต้องการรถน้ำหนักเบา เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง สามมิตรก็ใช้ผลิตภัณฑ์ไฮเทนไซล์ ตลอดจนต้องเรียนรู้เท่าทันสถานการณ์อยู่เสมอ เช่น ปัจจุบันมีปัญหา PM 2.5 สามมิตรก็ R&D จนมี City Dump อีกทั้งในยุคเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูง SMEs ต้องการรถ เพื่อใช้ประกอบธุรกิจ สามมิตรก็มีบริการดัดแปลงรถกระบะคันเดิมให้กลายเป็นรถเพื่อการธุรกิจ นอกจากนี้ สามมิตรยังมีการนำ IoT เข้ามาเชื่อมต่อสินค้าและบริการ ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลไปถึงลูกค้า พันธมิตร อย่างครบวงจร ด้วยการจัดทำ สามมิตร สมาร์ท โมบิลิตี้ ดิจิทัลแพลทฟอร์ม (SSM Digital Platform) เป็นแพลทฟอร์มด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ทั้งคนและสินค้า อาทิ การติดตามยานพาหนะ จัดเก็บข้อมูลบำรุงรักษาและการใช้งานของรถ รวมถึงพฤติกรรมการขับขี่ของคนขับรถ เพื่อการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพ ลดการสูญเสีย และสร้างความปลอดภัยให้เกิดกับท้องถนน รวมถึงเปลี่ยน Internet of Things (IoTs) ให้เป็น Internet of Vehicles (IoVs) และสร้างให้เกิด Sharing Economy ที่ทั้งอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จะสามารถใช้ประโยชน์ได้ร่วมกันในอนาคตอีกด้วย

แน่นอนว่าธุรกิจโลจิสติกส์จะเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่จะต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้าตามคลื่นแห่งเทคโนโลยีอย่าง IoTs และ AI ผู้ประกอบการ จึงจำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยี ด้วยการงัดนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกสบายในการประกอบธุรกิจ ควบคู่กับการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ลูกค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และยานยนต์ของประเทศก้าวหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

Visitors: 1,489,847