“เอ.พี.ฮอนด้า อะคาเดมี” ประเดิมบิ๊กเทรนนิ่งบิดล่าฝัน ก่อนดวลเดือดเก็บแต้มสะสมสนามแรก 9-10 มิ.ย.นี้ที่บุรีรัมย์

เริ่มต้นด้วยความเข้มข้น สนุกสนาน และเร้าใจเต็มพิกัด สำหรับโครงการ เอ.พี.ฮอนด้า อะคาเดมี 2018 ปั้นนักบิดเยาวชนไทยสู่ศึกการแข่งขันรถจักรยานยนต์ระดับเวิล์ดกรังด์ปรีซ์ ประเดิมรอบบิ๊กเทรนนิ่งไปแล้ว 2 ครั้ง ก่อนชิงชัยเก็บแต้มสนามแรกวันที่ 9-10 มิ.ย.นี้ที่บุรีรัมย์

โปรเจกต์บิดล่าฝัน “เอ.พี.ฮอนด้า อะคาเดมี ไทยแลนด์” ประจำปี 2018 ออกสตาร์ทโปรแกรมเตรียมความพร้อม หรือรอบบิ๊กเทรนนิ่งให้กับน้องๆ เยาวชนนักบิดในโครงการทั้ง 15 คนไปแล้ว สำหรับ 2 สนามแรกของฤดูกาล ที่สนามมอเตอร์สปอร์ต พาร์ค กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 28-29 เมษายน และวันที่ 12-13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

โดยรูปแบบของการฝึกอบรมทั้ง 2 ครั้งที่เพิ่งผ่านพ้นไป ทีมครูฝึกต้องการเน้นไปที่รายละเอียดการให้ความรู้และเทคนิคการขับขี่เรซแมชชีน ฮอนด้า เอ็นเอสเอฟ100 (Honda NSF100) ผ่านการจำลองโปรแกรมการลงสนามเสมือนสถานการณ์จริงของเกมการแข่งขันระดับสากล

ด้านรายละเอียดต่างๆ เป็นอย่างไรบ้าง “ฟิล์ม-รัฐภาคย์ วิไลโรจน์” นักบิดชาวไทยคนแรกที่มีประสบการณ์บนเวทีใหญ่โมโตจีพี รุ่นโมโตทู ผู้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมผู้ฝึกสอน เปิดเผยว่า

“ก่อนอื่นเลยต้องขอชื่นชมน้องๆ นักบิดที่เข้าร่วมโครงการว่า ทุกคนมีความตั้งใจมาก ตลอดทั้ง 2 วัน ของการจัดเทรนนิ่งทั้ง 2 ครั้ง ผมเห็นถึงความมุ่งมั่นที่ต้องการจะเป็นนักแข่งรถมืออาชีพ เช่นเดียวกับทีมครูฝึกที่มาช่วยกันถ่ายทอดความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติให้กับน้องๆ ก็บอกเป็นเสียงเดียวกันครับ”

มุกข์-มุกข์ลดา สารพืช, นิว-กฤชพร แก้วสนธิ, แชมป์-ภาสวิชญ์ ฐิติวรารักษ์, ดรีม-สิทธิศักดิ์ อ่อนเฉวียง, ก๊อง-ธัชกร บัวศรี และ ก้อง-สมเกียรติ จันทรา คือ เหล่านักบิดในสังกัดทีมแข่ง เอ.พี.ฮอนด้า เรซซิ่ง ไทยแลนด์ ที่โค้ชฟิล์มกล่าวถึง

“ผมต้องการให้น้องๆ ในโครงการอะคาเดมีฯ ได้รับประโยชน์จากการฝึกอบรมอย่างแท้จริง นักแข่งของทีมเราที่ผมนำมาช่วยฝึกสอน ในแต่ละสนามจะต้องดูแลน้องๆ ในอัตราส่วน เด็ก 3 คนต่อนักแข่ง 1 คน โดยการคัดเลือกก็ใช้วิธีจับสลากเพื่อความยุติธรรม ซึ่งรายชื่อทีมครูฝึกอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละสนาม แต่คร่าวๆ จะแบ่งเป็น 5 ทีม ครูฝึก 1 คนต่อนักเรียน 3 คน จะต้องให้คำแนะนำและดูแลกันอย่างใกล้ชิดตลอดทั้ง 2 วันของการเทรนนิ่ง”

วันแรกของการฝึกอบรม ช่วงเช้าให้ความสำคัญไปที่ความฟิตของร่างกาย โปรแกรมการฝึกสอน เซอร์กิต เทรนนิ่ง(Circuit training) หรือสถานีที่เป็นภารกิจของแต่ละทีม แบ่งออกเป็น 4 สถานี ได้แก่

สถานีที่ 1.ฝึกความคล่องตัว วิ่งสปีดเก็บลูกเทนนิสเพื่อนำไปวางบนกรวยตามจุดและเก็บเข้ามาวางที่ตะกร้า 4 จุด
สถานีที่ 2.เพิ่มความแข็งแกร่งให้ช่วงล่าง วิ่งขึ้นบันไดและกระโดดเชือก 50 ครั้ง
สถานีที่ 3.หลังกระโดดเชือกครบแล้ว วิ่งลงบันไดมาเพื่อฝึกกล้ามเนื้อท้อง โดยทำท่าแพล้งกิ้ง(Planking) เป็นเวลา 1 นาที
สถานีที่ 4.เพิ่มพละกำลังและฝึกการบาล้านซ์ กระโดดทำท่า Burpee with Bozu ball (ลูกบอลครึ่งวงกลม) และกระโดดขึ้นไปยืน 10 ครั้ง

“ผมมองว่าการเทรนนิ่ง แน่นอนน้องๆ ต้องได้รับประโยชน์ แต่สิ่งสำคัญต้องมีความสนุกเป็นตัวขับเคลื่อน นอกจากนี้ยังต้องการให้ในแต่ละทีมรู้รักสามัคคี พร้อมกับฝึกการวางแผนการทำงานเป็นทีมด้วย ดังนั้น ผมจึงเพิ่มกติกาให้ว่า หากทำครบทุกสถานีทีมละ 2 รอบ ทีมไหนแพ้ สมาชิกในทีมทุกคนต้องวิ่งรอบสนามหลังเสร็จสิ้นการฝึกในวันนั้น”

ขณะที่การลงสนาม รอบฝึกซ้อมครั้งแรกก่อนรับประทานอาหารเที่ยงจะนับเป็นครั้งที่ 1 และต่อเนื่องครั้งที่ 2 และ 3 ในช่วงบ่าย ซึ่งครั้งหลังสุด เวลาต่อรอบจะมีผลในการลงสนามในช่วง QP1 หรือควอลิฟายครั้งที่ 1 เพราะหากทำเวลาดีก็สามารถคว้าสิทธิ์ลุยต่อในรอบ QP2 หรือรอบซูเปอร์โพลเพื่อชิงกริดสตาร์ท 5 อันดับแรก

“ฝ่ายมอเตอร์สปอร์ตของเอ.พี.ฮอนด้า ช่วยกันออกแบบโปรแกรมทั้งหมดให้มีความกระชับ และใกล้เคียงกับเกมการแข่งขันในรายการโมโตจีพี หรือสรุปง่ายๆ ในวันแรก เราจะเห็นภาพของโปรแกรมการแข่งขันระดับมืออาชีพ ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง”

ฟิล์ม-รัฐภาคย์ หัวหน้าทีมผู้ฝึกสอน กล่าวต่อว่า การฝึกอบรมวันที่สองเริ่มต้นด้วยการสัมผัสพื้นแทร็กในรอบวอร์มอัพ ประมาณ 20 นาที ก่อนที่โค้ชและลูกทีมจะมีเวลาปรึกษาหารือเพื่อวางแผนการขับขี่ หลังจากนั้นประมาณ 10 โมงเช้า ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่เป็นความพิเศษของโครงการนี้ นั่นคือ การเปิดเทปรายการแข่งขันโมโตจีพีย้อนหลังให้พ่อแม่ผู้ปกครอง น้องๆ นักบิดเยาวชน รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนได้มีโอกาสพูดคุย แลกเปลี่ยนทัศนะและความคิดเห็นร่วมกัน

“ส่วนหนึ่งผมเชื่อว่า ความสามัคคีเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จที่สำคัญ และเป็นภาพใหญ่อันชัดเจนของทีมแข่ง เอ.พี.ฮอนด้า เรซซิ่ง ไทยแลนด์ มาโดยตลอด ขณะเดียวกันอีกส่วนก็เป็นการบิ้วท์อารมณ์ให้น้องๆ เกิดความฮึกเหิม รู้สึกกระหายในชัยชนะ และเป็นคุณสมบัติของนักแข่งที่ทุกคนต้องมี และเมื่อดูจบแล้วก็ได้เวลาลงสนามรอบชิงชนะเลิศเรซแรกทันที”

ขณะที่การชิงชัยเรซที่สอง จำนวน 15 รอบ เท่ากับเรซแรก จะเกิดขึ้นหลังจากมื้อเที่ยงของวันนั้น ซึ่งจริงๆ แล้วโปรแกรมการฝึกสอนควรจะสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ แต่โค้ชฟิล์มแอบเติมแรงกระตุ้นให้นักบิดในสังกัด ด้วยไฮไลต์ส่งท้ายเรียกเสียงเชียร์จากน้องๆ และผู้เข้าร่วมชมกิจกรรมได้ของแถมความเร้าใจกลับบ้านกันอย่างถ้วนหน้า

“ก่อนประชุมสรุปผลการฝึกอบรมในแต่ละสนาม ครูฝึกที่มาเป็นโค้ชจะต้องลงทำการแข่งขันกันเอง และนี่คือสีสันช่วงท้ายที่ทุกคนห้ามพลาด ประโยชน์ข้อแรก นักแข่งของเราจะมีแรงกระตุ้นและการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ข้อสอง เด็กๆ ก็ได้ดูอาจารย์สอนเทคนิคการขับขี่อย่างใกล้ชิด และข้อสาม เป็นผลพลอยได้ให้กับคนที่มาติดตามชม นอกจากชมนักบิดเยาวชนไทยในโครงการอะคาเดมี่แล้ว ยังได้ส่งเสียงเชียร์นักบิดดาวรุ่งในสังกัดเราด้วย”

“ขั้นตอนการฝึกอบรมต่างๆ ที่ผมและทีมงานได้กำหนดไว้ ในแต่ละสนามจะพยายามรักษารูปแบบไว้ตามนี้ อย่างไรก็ตามหากหน้างานมีปัจจัยอื่นๆ ที่ควบคุมไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสภาพอากาศ รายละเอียดบางอย่างอาจมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมต่อไป”

“สุดท้ายขอฝากถึงแฟนคลับทีมแข่งเอ.พี.ฮอนด้า และแฟนกีฬาความเร็วชาวไทยทุกคน มาช่วยกันลุ้นและติดตามเกมการแข่งขันบิดล่าฝัน สนามแรก ซึ่งจะใช้เก็บแต้มอย่างเป็นทางการ วันที่ 9-10 มิถุนายน นี้ ที่จังหวัดบุรีรัมย์ด้วยนะครับ” อดีตนักบิดชาวไทยคนแรกในศึกโมโตจีพี รุ่นโมโตทู กล่าวสรุป

เกี่ยวกับโครงการ เอ.พี.ฮอนด้า อะคาเดมี ไทยแลนด์ ปั้นนักบิดไทยสู่ศึกการแข่งขันรถจักรยานยนต์ระดับเวิล์ดกรังด์ปรีซ์ มีวัตถุประสงค์ในการเฟ้นหาดาวรุ่งดวงใหม่ อายุระหว่าง 9-14 ปี จำนวน 15 คน เข้าร่วมโปรแกรมพัฒนาเป็นนักแข่งรถจักรยานยนต์มืออาชีพ เป็นระยะเวลา 2 ปี ควบคุมฝึกสอนโดย “มาโกโตะ ทามาดะ” และ “ฟิล์ม-รัฐภาคย์ วิไลโรจน์” สองนักบิดมือเก๋าที่มีประสบการณ์ในศึกโมโตจีพีและโมโตทู

โดยนักบิดดาวรุ่งจากทั่วประเทศจำนวน 15 คน ที่เข้าร่วมโปรเจกต์บิดล่าฝันรุ่นที่หนึ่งประจำปี 2018 ประกอบด้วย ธนากร หลักหาญ, ธีรเทพ ต้านชัง, พีรวิชญ์ ฉัตรทันฑ์, พิสิษฐ์ บุรีวงค์, ธีรไนย ทับทิ, กฤษฎา ธนะโชติ, วาติกันต์ สุขคุ้ม, ณัฐพล แก้วมูล, ธุรกิจ บัวผา, รัชชานนท์ สีปัด, อภิรักษ์ อินอร่าม, กษิภัศ ใจเอื้อ, ธนัช ละอองปลิว, กันตพัฒน์ แยบการไถ และ ธนาภูมิ รัตนศรี

ทั้งนี้ สำหรับเกมการแข่งขันของโปรเจกต์บิดล่าฝันสนามต่อไป ผลการดวลความเร็วจะเริ่มมีการเก็บคะแนนสะสม เพื่อเฟ้นหาแชมป์นักบิดรุ่นเยาว์ประจำปี 2018 โดยสนามแรก เตรียมชิงชัยระหว่างวันที่ 9-10 มิถุนายน นี้ ที่สนาม BRIC Go Kart จ.บุรีรัมย์ แฟนกีฬามอเตอร์สปอร์ตชาวไทยท่านใดที่สนใจเข้าชม สามารถเข้าชมได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

Visitors: 1,485,942